"ใครก็เป็นสถาปนิกได้ แต่เป็นสถาปนิกที่ดีนั้นยาก" -- แผลงฤทธิ์
บริษัทรับ แผลงฤทธิ์ - กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์
บริษัทสถาปนิกล้านนา ผู้อาสาสร้างฝันเป็นจริงตามใจเจ้าของบ้าน ในงบประมาณจำกัด ด้วยสไตล์ไม่ซ้ำใคร 'สถาปนิก' ไม่ใช่แค่รับสร้างตึก ไม่ใช่แค่เพียงสถาปนึก หากเป็นคนสร้างฝัน ให้กลายมาเป็นรูปธรรม ที่สอดคล้องกับไลฟสไตล์เจ้าบ้าน และคงจะดี ถ้ามีสถาปนิกที่ช่วยให้ความคิดกลายเป็นจริง ภายใต้งบประมาณจำกัด แถมยังมีสไตล์ไม่ซ้ำใคร
"การเรียนด้านสถาปัตยกรรมจะพูดถึงวิธีคิดค่อนข้างเยอะ ผมจึงอยากลองเรื่องวิธีคิดกับคนภายนอกที่ไม่ใช่อาจารย์ อยากลองอะไรที่มันกว้างขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดมาจากความสงสัย หรือกำลังค้นหาอะไรบ้างอย่างเหมือนวัยรุ่นทั่วไป" ประโยคคำพูดนี้แฝงไว้ด้วยแนวคิดและความพยายามค้นหาสิ่งที่แปลกและแตกต่างของ ขวัญชัย สุธรรมซาว สถาปนิกหนุ่มไฟแรง เจ้าของบริษัท แผลงฤทธิ์ จำกัด ที่กำลังมีผลงานโด่ดเด่นในแวดวงสถาปนิกอยู่ในเวลานี้
ก่อนจะก้าวสู่แวดวงสถาปนิกเต็มตัว เจ้าตัวเกริ่นว่าใช้เวลาอยู่พักใหญ่ เริ่มจากหลังเรียนจบ หันเหตัวเองไปทำงานด้านกราฟิกในบริษัทเอกชน เพราะมีอคติกับวงการสถาปนิกหลังจากได้ยินเสียงร่ำลือในแง่ลบ แต่จุดหักเหที่ทำให้เขาตัดสินใจละทิ้งเงินเดือนประจำมาทำธุรกิจส่วนตัวซึ่งไม่ใช่งานด้านสถาปัตย์ แต่กลับเป็นร้านกาแฟ 'มองเพลิน' ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีโอกาสได้อ่านหนังสือ 'พ่อรวยสอนลูก'
ในช่วงที่ธุรกิจกาแฟบูม เขาสามารถขยายสาขาได้ถึง 3 สาขา แต่ด้วยใจที่ยังรักในงานด้านการออกแบบและงานสถาปนิก เมื่อเพื่อนที่เรียนด้านสถาปัตย์ชักชวนมาทำงานด้วยกัน ขวัญชัยจึงพบช่องทางที่จะได้กลับมาทำงานที่ตัวเองรักอีกครั้ง
เดือนกันยายน 2547 'บริษัท แผลงฤทธิ์ จำกัด' จึงก่อกำเนิดขึ้นด้วยความมุ่งมั่นของคนหนุ่มไฟแรงที่ตั้งใจจะสร้างสรรค์บริษัทให้ดีที่สุด
แปลก แตกต่าง แต่ลงตัว
ปัจจุบัน 'ขวัญชัย' ถือเป็นสถาปนิกสไตล์โมเดิร์นระดับแถวหน้าที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งด้วยวิธีคิดและการสร้างสรรค์งาน เริ่มตั้งแต่การส่งงานเข้าประกวดสมัยเรียน โดยมีรางวัลการันตีคุณภาพอยู่หลายชิ้นอาทิ รางวัลรองชนะเลิศ โครงการสาทร 2000 ของสถานทูตฝรั่งเศสในปี 2542 รางวัลรองชนะเลิศผลิตภัณฑ์ยิมซั่มไทย ปี 2543 ตลอดจนผลงานในวิชาชีพหลังเรียนจบ เช่น รางวัลชนะเลิศประกวดแบบอาคารปฎิบัติการด้านท่องเที่ยวและการโรงแรม ของมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ตามมาด้วยผลงานประกวดแบบที่ทำการสภาสถาปนิกสยามที่เขา ติด 1 ใน 5 ทีมเข้ารอบ ส่วนบ้านพักอาศัยได้รับรางวัลจากรรมาธิการสถาปนิกล้านนา ถึง 3 ปีด้วยกัน คือ เมื่อปี 2548 ปี 2549 และปี 2551 นอกจากนี้อาคารพาณิชย์ และอาคารสถาบันของขวัญชัยยังได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมที่สมควรได้รับการเผยแพร่อีกด้วย
ล่าสุดเขายังได้มีส่วนร่วมในการออกแบบโรงแรม Mo Hotel ที่ตั้งอยู่ในจ.เชียงใหม่ ผลงานชิ้นนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ซินแซฮวงจุ้ย ศิลปิน และสถาปนิก โดยเจ้าของโปรเจคนำทุกฝ่ายที่ต่างขั้วกันมาทำงานร่วมกัน ภายใต้แนวความคิด 12 ราศีนักษัตรไทย เป็นโรงแรมที่ก่อสร้างภายใต้แนวคิด 12 ราศี โดยนำแนวความคิดด้านศาสตร์ฮวงจุ้ย มาผสมความงามด้านศิลปะกับการพัฒนาที่เป็นจริงด้วยสถาปนิก ห้องพักจึงมีเพียง 12 ห้องเท่านั้น ไม่ใช่โรงแรมสไตล์บูติก แต่เป็นโรงแรมที่มีห้องพักแนวศาสตร์บวกศิลปะ ที่มีทั้ง เรื่องโครงสร้าง งานปติมากรรม และความเชื่อหลอมรวมกันอยู่ ถือเป็นโปรเจคแรกของเขาในการออกแบบที่พักอาศัยแบบรวม
ส่วนหลักการในการออกแบบงานให้กับลูกค้านั้น สถาปนิกหนุ่มบอกว่า ลูกค้าทุกคนที่เข้ามาทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว จึงให้ลูกค้าดูแลความต้องการของตัวเองให้ครบ ส่วนที่เหลือจะสอดแทรกในเชิงรูปแบบประโยชน์ใช้สอย ดูแลงานดีไซน์ และความเป็นไปได้ เพื่อสร้างฝันของลูกค้าให้เป็นจริง
"เราจะแบ่งหน้าที่กับลูกค้า จะบอกลูกค้าว่าดูแลในส่วนของลูกค้าให้ดีๆ อย่าให้หลุด ส่วนผมจะดูแลส่วนที่รับผิดชอบให้ดี ต่างคนต่างทำหน้าที่ช่วยกัน อย่างโยนทุกอย่างมากให้ผม ฉะนั้นงานที่ออกมาจึงเป็นงานของลูกค้าด้วยและของผมด้วย เหมือนเราช่วยกันทำงานมากกว่า"
ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นคนเชียงใหม่ และคนที่ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ รวมทั้งชาวต่างชาติ ลูกค้าที่เข้ามาส่วนใหญ่อยากได้งานที่แปลกๆ ทันสมัย ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ต่างจากเดิมที่ลูกค้ามักจะอยากได้บ้านสไตล์ล้านนา ซึ่งเจ้าตัวพบว่าการออกแบบบ้านแนวนี้ไม่ค่อยเหมาะกับตัวเอง แม้จะได้ลองออกแบบงานบ้านสไตล์นี้จนกระทั่งได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารบ้านและสวนให้เป็นบ้านน่าอยู่ 1 ใน 10 หลัง เมื่อปี 2548 ก็ตาม
"เพราะได้ทำจึงรู้ว่ามันไม่เหมาะกับเรา ทุกวันนี้ยังมีคำถามว่า อะไรคือล้านนาแท้ที่เหมาะสมกับปัจจุบัน เพราะมันยังไม่มีรูปแบบ หรือมีอะไรบ่งบอกชัดเจน แต่ผมเข้าใจลักษณะงานพื้นถิ่นได้ดีพอสมควร จากการศึกษาและเรียนรู้มาในพื้นที่ พอรู้มาว่า ความเป็นล้านนา และสถาปัตยกรรมล้านาจริงๆ ประเด็นอยู่ตรงไหน แต่พอไม่แน่ใจผมจึงไม่อยากทำ มันอยู่กึ่งกลางระหว่างความคิดที่ไม่ชัดเจน มีคำถามว่าอะไรคือล้านนาแท้ ผมจึงไม่เสี่ยงทำ"
ในฐานะที่เป็นชาวเชียงใหม่ขวัญชัยยังได้แสดงทัศนะถึงมุมมองและภูมิทัศน์ที่เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่ว่า "ทุกคนต้องดูตัวเองว่าต้องการอะไร ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หมด เพียงแค่รับรู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะสมสำหรับเมือง อะไรที่เก่าและดีอยู่แล้วก็ควรเก็บไว้ อะไรที่ใหม่ก็ควรทำให้ดีไม่ไปกระทบกับสิ่งเก่า แต่ถ้าเอามาร่วมกันทั้งเก่าใหม่ จะกลายเป็นลูกครึ่ง คลุมเครือไม่ชัดเจน ซึ่งถ้าทุกคนคิดอย่างนี้คงจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง"
เกิด และเติบโต
ที่ผ่านมาขวัญชัยยอมรับว่า สนุกกับงานออกแบบบ้านพักอาศัยมาก เพราะรูปแบบงานเล็กๆ เป็นกันเอง ถ้างานใหญ่เจ้าของเยอะจะสรุปแบบกันลำบาก ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกค้าในละแวกใกล้เคียงที่เดินเข้ามาหลังจากเห็นออฟฟิศแล้วถูกใจ เขายอมรับว่าสิ่งที่ทำให้ลูกค้าสนใจ คือ การออกแบบออฟฟิศโดดเด่นสะดุดตา ถือช่วยทำการตลาดให้บริษัทไปในตัว รวมทั้งผลงานที่ส่งเข้าประกวดในหลายเวทีที่ผ่านมาก็ช่วยสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
เมื่อถามถึงการบริหารงานภายในบริษัทเขาบอกว่า
พนักงานทั้งหมดอายุไม่เกิน 30 ปี เป็นเด็กจบใหม่ไฟแรง เวลาทำงานเขาจึงพยายามนึกถึงว่าตอนเรียนจบใหม่ตัวเองเป็นยังไง ถ้าไม่ชอบทำงานในบริษัทแบบไหนก็จะไม่ทำสิ่งนั้น รวมทั้งพยายามเติมเต็มในสิ่งที่พวกเขาขาดไป พร้อมกับปลูกฝังพนักงานทุกคนในบริษัท ภายใต้แนวคิดว่า
"ใครก็เป็นสถาปนิกได้ แต่เป็นสถาปนิกที่ดีนั้นยาก"
ตอนนี้เขายังเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างใหม่เพิ่มชื่อ บริษัท ไร้เทียมทาน จำกัด สำหรับเป็นโรงเรียนกวดวิชาของบริษัทในด้านงานก่อสร้าง ช่วยให้พนักงานทุกคนได้เรียนรู้กระบวนการในงานโครงสร้างสถาปัตย์ เพราะข้อด้อยของนักศึกษาจบใหม่ คือ เทคนิค ดีเทล ฟังชั่น โครงสร้าง
ผู้บริหารหนุ่มวัย 30 ปียังยอมรับว่า เขาอายุน้อย ตอนเปิดบริษัทเมื่อ 3 ปีที่แล้ว กำลังอยู่ในวัยคึกคะนองและกล้าเสี่ยง "ผมมองว่า น้องๆ ทุกคนมีไฟอยู่แล้ว ลองพยายามดึงไฟออกมาให้ได้ เพราะอีกหน่อยเมื่อโตขึ้น มุมมองประสบการณ์มากขึ้น ก็อาจไม่กล้าเสี่ยง แต่ผมพยายามเสี่ยงและแก้ปัญหาไป ถึงแม้ว่าจะเสี่ยง แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ทำให้เราได้อะไรใหม่ๆ และพยายามแก้ปัญหาเรียนรู้ไปพร้อมกัน ซึ่งสิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการออกแบบเชิงทดลอง"
ไม่มีใครรู้ว่าอะไรถูก หรือผิด แต่ประสบการณ์ที่สั่งสมมาในสมการชีวิตผ่าน 'การทดลอง' รูปแบบต่างๆ จะช่วยเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้ทุกคนค้นหาทางเดินของตัวเอง ...................
ขวัญชัย สุธรรมซาว เป็นหนุ่มเชียงใหม่แท้ๆ จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย และระดับ ปวช. - ปวส.คณะช่างเทคนิกสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ เมื่อปี 2540 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา) ก่อนสอบเรียนต่ออีก 2 ปี ที่คณะครุศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อปี 2542
No comments:
Post a Comment